วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

คุณลักษณะของครู



ครูดนตรีควรมีคุณลักษณะดังนี้.
            การเป็นครู ไม่ใช่เพียงแค่ประกอบอาชีพ ทำมาหาเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่ครูดนตรีเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ครูดนตรีจึงต้องมีคุณสมบัติพิเศษ นอกจากจะมีความสามารถด้านดนตรี รักที่จะสอนเด็กแล้ว วิถีชีวิตของครูดนตรีจะต้องอยู่ในศีลธรรม มีจริยธรรมในวิชาชีพ อาทิ ไม่พูดปด ไม่ลักทรัพย์ ไม่เล่นการพนัน ไม่คบชู้สู่สม และไม่มีปัญหาด่างพร้อยเรื่องการเงิน เพราะวิถีชีวิตของครูดนตรีเกี่ยวข้องกับศรัทธา ความน่าเชื่อถือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนือความสามารถทางดนตรีทั้งสิ้น
โรงเรียนจำนวนมากขาดแคลนครูดนตรี ตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีตัวเลือกครูดนตรี หาครูดนตรีไม่ได้ ในที่สุดครูผู้สอนวิชาดนตรีทั่วประเทศ จึงสอนเพราะความจำเป็นส่วนตัวและความจำเป็นของประเทศ
สิ่งที่พบจากครูดนตรีอีกประการหนึ่งก็คือ “ครูที่สอนดนตรี เล่นดนตรีไม่เป็น” บางแห่งครูสอนดนตรีไม่ต่างไปจากการสอนหนังสือ คือสอนความรู้ดนตรีจากหนังสือ ไม่ได้สอนดนตรีจากตัวดนตรี หากจะมองให้ลึกลงไปว่าทำไมเด็กจึงเล่นดนตรีไม่เป็นคำตอบคือไม่มีครูดนตรี มีแต่ครูสอนหนังสือ 
มีครูสอนหนังสือในชั่วโมงดนตรี สอนให้เด็กเป่าปี่ในสมุด ตีระนาดจากหนังสือ วิชาดนตรีก็คือการดูรูปเครื่องดนตรี ท่องจำเครื่องดนตรี ออกมาร้องเพลงหน้าชั้น ไปค้นคว้าทำรายงานเรื่องเครื่องดนตรี ซื้อรูปเครื่องดนตรีแล้วตัดติดรูปเครื่องดนตรีส่งครู ฯลฯ ซึ่งเป็นวิธีการของครูสอนดนตรีที่พบอยู่ทั่วไป สำหรับครูสอนดนตรีที่มีฝีมือ สอนดนตรีในระดับสูง โดยเฉพาะครูที่สอนดนตรีปฏิบัติ พบว่าครูไม่เข้าห้องสอน ปล่อยให้เด็กฝึกฝีมือเอาเองตามยถากรรม หาโน้ตมาให้เด็กไปฝึกเอาเอง เมื่อถึงเวลาสอบปลายภาคก็ให้เด็กมาเล่นดนตรีให้ฟัง แล้วก็ให้คะแนนตามใจ โดยอาศัยความเห็นส่วนตัว ณ เวลานั้น เมื่อครูไม่เข้าสอนในห้องเรียน เด็กก็ต้องอาศัยความสามารถพิเศษส่วนตัวรวมไปถึงผู้ปกครองด้วย ในการเอาใจครูด้วยการเข้าร่วมวงหรือร่วมกิจกรรมดนตรีนอกเวลาเรียน เพื่อให้ครูสอนดนตรีรู้จักเป็นการส่วนตัว ทำให้เกิดวงดนตรีมากมายเกินจำเป็นในโรงเรียน และเวลาที่ครูสอนดนตรีจะทุ่มเททำวงดนตรีให้ดีก็ต้องเปลี่ยนไป กลายเป็นการสอนนอกเวลา  ครูดนตรีอีกประเภทหนึ่งอยู่ในสภาพที่หมดไฟ ครูดนตรีที่หมดไฟส่วนใหญ่เคยเป็นผู้ที่ขยัน มีความรู้ความสามารถสูงมาก่อน แต่เนื่องจากถูกแรงปะทะในการทำงานมากเกินไป ผิดหวังและชอกช้ำจากการทำงานบ่อยเกินไป ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร ได้รับการเย้ยหยันและถูกซ้ำเติมจากการทำงาน ในที่สุดครูดนตรีเหล่านี้ก็หมดไฟ หมดพลัง หมดสภาพ กลายเป็นครูดนตรีที่อยู่ไปวันๆ 
ครูดนตรีอีกสภาพหนึ่ง ขยันทำมาหากิน ส่วนใหญ่เป็นครูดนตรีที่มีฝีมือ เป้าหมายของครูดนตรีเหล่านี้จะทำงานเพื่อเงินเป็นหลัก เป็นครูดนตรีสอนรายชั่วโมง ทำงานเพื่อนับชั่วโมง ต้องการชั่วโมงสอนเยอะๆ ครูเหล่านี้ไม่ต้องการหยุดสอน ต้องการทำงาน บางคนทำงานไม่มีวันหยุด ไม่ต้องการการพัฒนาใดๆทั้งสิ้น กลัวจะเสียเวลา เสียรายได้ เสียลูกค้า ครูดนตรีเหล่านี้มีฝีมือ มีฐานะดี แต่ผลงานไม่มีคุณภาพ เพราะขาดวิญญาณ
ครูดนตรีอีกจำนวนหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพเป็นครูเพื่อไต่เต้าเพื่อไปเป็นผู้บริหาร โดยทั่วไปแล้วก็จะเป็นครูดนตรีที่มีฝีมือ แต่เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร จึงเปลี่ยนอาชีพไปทำงานเป็นผู้บริหารเสียเอง ไปเป็นครูผู้ปกครอง เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ เป็นหัวหน้าห้องสมุด หัวหน้าธุรการ เป็นกรรมการบริหาร ฯลฯ เลิกเป็นครูดนตรีเพราะไปทำงานการเมืองของโรงเรียนได้ดิบได้ดีมากกว่า 

คุณสมบัติของครูดนตรีอาชีพ
            หากจะพูดถึงคุณสมบัติด้านครูดนตรี แน่นอนที่สุด สิ่งแรกที่ควรจะมีคือความรู้ความสามารถด้านดนตรี มีความคิดและความสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กได้ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ตรงต่อเวลา และมีความศรัทธาในวิชาชีพ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของทุกๆอาชีพ หากดูเผินๆก็สามารถเข้าใจได้ หรือทำได้ แต่หากจะนำไปปฏิบัติจริงแล้วทำยากมาก คุณสมบัติของครูดนตรีเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของครูดนตรีเอง คุณสมบัติเป็นอย่างไรพฤติกรรมของครูดนตรีก็จะเป็นอย่างนั้น เช่น ขี้เกียจ ขี้เมา ขี้หลี ขี้ปด ผลของการสอนดนตรีก็จะออกมาเป็นอย่างนั้น 
สังคมเปลี่ยน ปรัชญาเปลี่ยน ครูดนตรีก็ต้องเปลี่ยน 
            อดีต ดนตรีเป็นวิชาเต้นกินรำกิน (ระเด่นลันได) ดนตรีเป็นวิชาของทาส (พระอภัยมณี) มีหน้าที่ร้องรำทำเพลง ดนตรีเป็นวิชาที่ไม่มีแก่นสาร เสียแรงรู้เสียแรงเรียน” (นางนพมาศ) ดนตรีเป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของคนบาป (อุโบสถศีลข้อที่ ๗) ผู้ที่เล่นดนตรีดีดสีตีเป่า ร้องรำทำเพลง ตายไปแล้วต้องตกนรก (นางนพมาศ) ดนตรีเป็นวิชาต้องห้าม เช่น “อย่าร้องเพลงในครัว จะได้ผัวแก่” เป็นต้น
ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครอง คนรุ่นใหม่หันมาสนใจดนตรี สนใจการศึกษาดนตรีอย่างจริงจัง มีมุมมองใหม่ๆสำหรับดนตรี มีการตีความดนตรีใหม่เพื่อทำความเข้าใจใหม่ มีคำตอบคำอธิบายใหม่ๆเพื่อทำให้ดนตรีเป็นพื้นฐานของชีวิตเด็กไทย อย่างเช่น ให้มีโรงเรียนดนตรีพิเศษ ตามมาตรา ๑๕/๒ สังกัดคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
การตีความใหม่ทางด้านดนตรี ทำให้ดนตรีกลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิตเด็กไทย พัฒนาคุณภาพคน และนอกจากจะสร้างงานสร้างเงินจากการประกอบอาชีพทางด้านดนตรีได้แล้ว ยังเป็นความต้องการของสังคมด้วย
ครูดนตรีที่เก่ง จึงไม่ได้หมายความว่าเป็นครูดนตรีที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีเท่านั้น แต่ยังจะต้องมีความสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ความสามารถที่มีไปยังนักเรียนได้อย่างดี นอกจากจะต้องทำงานตามระเบียบแล้ว ยังต้องมีความกล้าที่จะทำงานเชิงสร้างสรรค์ได้ด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น