วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

องค์ประกอบของระนาดเอก





ระนาดเอก 

           ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลาย ๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า ลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน ระนาดเอกใช้ในงานมงคล เป็นเครื่องดนตรีเป็นมงคลในบ้าน บรรเลงในวงปี่พาทย์และวงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวง
ลักษณะทั่วไป
ส่วนประกอบของระนาดเอก มี 3 ส่วน ได้แก่ ผืน ราง และไม้ตีผืน ประกอบด้วยลูกระนาด ซึ่งทำด้วย ไม้ชิงชัน หรือไม้แก่น เช่น ไม้ไผ่บง ไม้มะหาด ไม้พะยูงก็ได้ ผืนระนาดไม้เนื้อแข็ง เสียงจะแกร่ง และดังคมชัดเหมาะสำหรับบรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ส่วนผืนระนาดที่ทำจากไม้ไผ่จะให้เสียงที่นุ่มนวล เหมาะสำหรับวงปี่พาทย์ไม้นวมและวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย ลูกระนาดมีทั้งหมด 21-22 ลูก โดยลูกที่ 22 มีชื่อเรียกว่า ลูกหลีก หรือ ลูกหลิบ ที่ท้องของลูกระนาดจะคว้านและใช้ขี้ผึ้งผสมกับตะกั่วถ่วงเพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างเสียง โดยเสียงจากผืนระนาดขึ้นอยู่กับส่วนประกอบ 3 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรก ขึ้นอยู่กับขนาดใหญ่-เล็ก ของไม้ที่ใช้ทำ ส่วนที่สอง ขึ้นอยู่กับการคว้านท้องไม้ลูกระนาดว่ามาก-น้อยเพียงใด ส่วนที่สามขึ้นกับปริมาณมาก-น้อยของตะกั่วที่ถ่วงใต้ลูกระนาดแต่ละลูก ลูกระนาดทั้งหมดจะถูกเจาะรูเพื่อร้อยเชือก และแขวนบนรางระนาด
                ราง เป็นส่วนที่เป็นกล่องเสียงของระนาด ทำให้หน้าที่อุ้มเสียง นิยมทำด้วยไม้สักและทาด้วยน้ำมันขัดเงา ปัจจุบันการใช้ระนาดที่ทำด้วยไม้และทาด้วยน้ำมันลดความนิยมลง นักดนตรีนิยมใช้รางระนาดที่แกะสลักลวดลายไทยและลงรักปิดทองเพื่อความสวยงาม บางโอกาส อาจมีการฝังมุก ประกอบงา ซึ่งราคาก็จะสูงตามไปด้วย จากการรณรงค์พิทักษ์สัตว์ป่าที่มีอยู่ทั่วไป รางประกอบงาจึงไม่ได้รับความนิยม รูปร่างระนาดเอกคล้ายเรือบดแต่โค้งเรียวกว่า ตรงกลางของส่วนโค้งมีเท้าที่ใช้สำหรับตั้ง เป็นเท้าเดียวคล้ายพานแว่นฟ้า ปลายทั้งสองข้างของส่วนโค้งเรียกว่า โขน จะมีขอสำหรับห้อยผืนระนาดข้างละ 2 อัน
                ไม้ระนาด เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้เกิดเสียงโดยตรง มี 2 ชนิด คือ ไม้แข็ง และไม้นวม ไม้แข็งพันด้วยผ้าอย่างแน่น และชุมด้วยรักจนเกิดความแข็งเวลาตีจะมีเสียงดัง และคมชัด เหมาะกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์มอญ และวงปี่พาทย์นางหงส์ ส่วนไม้นวม เป็นไม้ตีระนาดที่พันจากผ้า และใช้ด้ายรัดหลาย ๆ รอบเพื่อความสวยงาม มีเสียงนุ่มนวม บรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้นวม วงมโหรี วงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
ขนาดของระนาดเอก ลูกต้นมีขนาด 39 ซม กว้างราว 5 ซม และหนา 1.5 ซม มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม เมื่อนำผืนระนาด มาแขวนบนรางแล้ว หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม
                การฝึกหัดบรรเลง
                ท่านั่ง
               
ท่านั่งที่นิยมในการบรรเลงระนาดเอกมี 2 ลักษณะ คือ การนั่งขัดสมาธิ และนั่งพับเพียบ โดยท่านั่งแบบขัดสมาธิถือเป็นท่านั่งที่เหมาะสมสำหรับการบรรเลงระนาดเอกมากที่สุด เพราะเป็นท่านั่งที่มีความเป็นธรรมชาติ มีความสะดวก ผ่อนคลาย ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบรรเลงได้ดีที่สุด
                การจับไม้
               
ให้ก้านของไม้ระนาดอยู่ในร่องของอุ้งมือ นิ้วทุกนิ้วช่วยควบคุมการจับไม้ มือทั้งสองคว่ำลง ข้อศอกทำมุมฉาก ตำแหน่งแขนซ้ายและขวาขนานกัน ตำแหน่งของนิ้วอาจแตกต่างกันบ้าง แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
                การจับแบบปากกา
               
ตำแหน่งของนิ้วชี้อยู่บนไม้ระนาด การเริ่มฝึกหัดระนาดเอกควรฝึกหัดโดยลักษณะนี้ ซึ่งนอกจากมีความงดงามแล้วยังมีความสะดวกและมีประสิทธิภาพสูงในการสร้างเสียง
                การจับแบบปากไก่
               
ตำแหน่งของนิ้วชี้จะตกไปอยู่ด้านตรงข้ามกับนิ้วหัวแม่มือ ก้านของไม้ระนาดอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างปลายนิ้วกับข้อบนของนิ้ว
                การจับแบบปากนกแก้ว
               
ตำแหน่งของก้านไม้ระนาดอยู่ในตำแหน่งเส้นข้อนิ้วของข้อบน
                ตำแหน่งของเสียง
                เมื่อเปรียบเทียบระนาดเอกกับเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่น ระนาดเอกเป็นเครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงมากที่สุด โดยมีจำนวน 21-22 ระดับเสียง ความที่มีจำนวนระดับเสียงถึง 22 เสียง ทำให้มีความกว้างของระดับเสียงครอบคลุมถึง 3 ช่วงทบเสียง ส่งผลให้การเดินทำนองของเสียงเป็นไปอย่างไม่ซ้ำซากจำเจอยู่ที่ช่วงระดับเสียงใดเสียงหนึ่ง
               
                หลักการตีระนาด
                หลักปฏิบัติทั่วไป
1. ตีตรงกลางลูกระนาด
           2. การเคลื่อนของมือ โดยที่มือซ้ายและมือขวาต้องอยู่ในแนวขนานกัน ตำแหน่งของหัวไม้อยู่กึ่งกลางลูกระนาด และเอียงตามทิศทางของผืนระนาด
           3. การยกไม้ เสียงของระนาดเอกจะดังมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับพลังในการตี ควรยกไม้ระนาดให้สูงจากผืนระนาดประมาณ 6 นิ้วสำหรับตีฉาก และ 2 นิ้วสำหรับตีสิม
           4. น้ำหนักมือ ต้องลงน้ำหนักของมือซ้ายและมือขวาให้เท่ากัน
                ลักษณะการตีระนาด
1.ตีฉาก
           2.ตีสิม
           3.ตีครึ่งข้อครึ่งแขน
           4.ตีข้อ
                วิธีการตีระนาด
                1.การเก็บ
                2.ตีกรอ
                3.ตีสะบัด
                4.ตีรัว
                5.ตีกวาด
                6.ตีขยี้
นักระนาดเอกที่มีชื่อเสียง
1. พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร)
2. ครูช้อย สุนทรวาทิน3. ครูสิน สินธุสาคร
4. ครูสิน ศิลปบรรเลง
5. พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)
6. พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
7. หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
8. พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)
9. หลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์)
10. จางวางสวน ชิดท้วม


วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

คุณลักษณะของครู



ครูดนตรีควรมีคุณลักษณะดังนี้.
            การเป็นครู ไม่ใช่เพียงแค่ประกอบอาชีพ ทำมาหาเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่ครูดนตรีเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ครูดนตรีจึงต้องมีคุณสมบัติพิเศษ นอกจากจะมีความสามารถด้านดนตรี รักที่จะสอนเด็กแล้ว วิถีชีวิตของครูดนตรีจะต้องอยู่ในศีลธรรม มีจริยธรรมในวิชาชีพ อาทิ ไม่พูดปด ไม่ลักทรัพย์ ไม่เล่นการพนัน ไม่คบชู้สู่สม และไม่มีปัญหาด่างพร้อยเรื่องการเงิน เพราะวิถีชีวิตของครูดนตรีเกี่ยวข้องกับศรัทธา ความน่าเชื่อถือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนือความสามารถทางดนตรีทั้งสิ้น
โรงเรียนจำนวนมากขาดแคลนครูดนตรี ตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีตัวเลือกครูดนตรี หาครูดนตรีไม่ได้ ในที่สุดครูผู้สอนวิชาดนตรีทั่วประเทศ จึงสอนเพราะความจำเป็นส่วนตัวและความจำเป็นของประเทศ
สิ่งที่พบจากครูดนตรีอีกประการหนึ่งก็คือ “ครูที่สอนดนตรี เล่นดนตรีไม่เป็น” บางแห่งครูสอนดนตรีไม่ต่างไปจากการสอนหนังสือ คือสอนความรู้ดนตรีจากหนังสือ ไม่ได้สอนดนตรีจากตัวดนตรี หากจะมองให้ลึกลงไปว่าทำไมเด็กจึงเล่นดนตรีไม่เป็นคำตอบคือไม่มีครูดนตรี มีแต่ครูสอนหนังสือ 
มีครูสอนหนังสือในชั่วโมงดนตรี สอนให้เด็กเป่าปี่ในสมุด ตีระนาดจากหนังสือ วิชาดนตรีก็คือการดูรูปเครื่องดนตรี ท่องจำเครื่องดนตรี ออกมาร้องเพลงหน้าชั้น ไปค้นคว้าทำรายงานเรื่องเครื่องดนตรี ซื้อรูปเครื่องดนตรีแล้วตัดติดรูปเครื่องดนตรีส่งครู ฯลฯ ซึ่งเป็นวิธีการของครูสอนดนตรีที่พบอยู่ทั่วไป สำหรับครูสอนดนตรีที่มีฝีมือ สอนดนตรีในระดับสูง โดยเฉพาะครูที่สอนดนตรีปฏิบัติ พบว่าครูไม่เข้าห้องสอน ปล่อยให้เด็กฝึกฝีมือเอาเองตามยถากรรม หาโน้ตมาให้เด็กไปฝึกเอาเอง เมื่อถึงเวลาสอบปลายภาคก็ให้เด็กมาเล่นดนตรีให้ฟัง แล้วก็ให้คะแนนตามใจ โดยอาศัยความเห็นส่วนตัว ณ เวลานั้น เมื่อครูไม่เข้าสอนในห้องเรียน เด็กก็ต้องอาศัยความสามารถพิเศษส่วนตัวรวมไปถึงผู้ปกครองด้วย ในการเอาใจครูด้วยการเข้าร่วมวงหรือร่วมกิจกรรมดนตรีนอกเวลาเรียน เพื่อให้ครูสอนดนตรีรู้จักเป็นการส่วนตัว ทำให้เกิดวงดนตรีมากมายเกินจำเป็นในโรงเรียน และเวลาที่ครูสอนดนตรีจะทุ่มเททำวงดนตรีให้ดีก็ต้องเปลี่ยนไป กลายเป็นการสอนนอกเวลา  ครูดนตรีอีกประเภทหนึ่งอยู่ในสภาพที่หมดไฟ ครูดนตรีที่หมดไฟส่วนใหญ่เคยเป็นผู้ที่ขยัน มีความรู้ความสามารถสูงมาก่อน แต่เนื่องจากถูกแรงปะทะในการทำงานมากเกินไป ผิดหวังและชอกช้ำจากการทำงานบ่อยเกินไป ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร ได้รับการเย้ยหยันและถูกซ้ำเติมจากการทำงาน ในที่สุดครูดนตรีเหล่านี้ก็หมดไฟ หมดพลัง หมดสภาพ กลายเป็นครูดนตรีที่อยู่ไปวันๆ 
ครูดนตรีอีกสภาพหนึ่ง ขยันทำมาหากิน ส่วนใหญ่เป็นครูดนตรีที่มีฝีมือ เป้าหมายของครูดนตรีเหล่านี้จะทำงานเพื่อเงินเป็นหลัก เป็นครูดนตรีสอนรายชั่วโมง ทำงานเพื่อนับชั่วโมง ต้องการชั่วโมงสอนเยอะๆ ครูเหล่านี้ไม่ต้องการหยุดสอน ต้องการทำงาน บางคนทำงานไม่มีวันหยุด ไม่ต้องการการพัฒนาใดๆทั้งสิ้น กลัวจะเสียเวลา เสียรายได้ เสียลูกค้า ครูดนตรีเหล่านี้มีฝีมือ มีฐานะดี แต่ผลงานไม่มีคุณภาพ เพราะขาดวิญญาณ
ครูดนตรีอีกจำนวนหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพเป็นครูเพื่อไต่เต้าเพื่อไปเป็นผู้บริหาร โดยทั่วไปแล้วก็จะเป็นครูดนตรีที่มีฝีมือ แต่เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร จึงเปลี่ยนอาชีพไปทำงานเป็นผู้บริหารเสียเอง ไปเป็นครูผู้ปกครอง เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ เป็นหัวหน้าห้องสมุด หัวหน้าธุรการ เป็นกรรมการบริหาร ฯลฯ เลิกเป็นครูดนตรีเพราะไปทำงานการเมืองของโรงเรียนได้ดิบได้ดีมากกว่า 

คุณสมบัติของครูดนตรีอาชีพ
            หากจะพูดถึงคุณสมบัติด้านครูดนตรี แน่นอนที่สุด สิ่งแรกที่ควรจะมีคือความรู้ความสามารถด้านดนตรี มีความคิดและความสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กได้ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ตรงต่อเวลา และมีความศรัทธาในวิชาชีพ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของทุกๆอาชีพ หากดูเผินๆก็สามารถเข้าใจได้ หรือทำได้ แต่หากจะนำไปปฏิบัติจริงแล้วทำยากมาก คุณสมบัติของครูดนตรีเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของครูดนตรีเอง คุณสมบัติเป็นอย่างไรพฤติกรรมของครูดนตรีก็จะเป็นอย่างนั้น เช่น ขี้เกียจ ขี้เมา ขี้หลี ขี้ปด ผลของการสอนดนตรีก็จะออกมาเป็นอย่างนั้น 
สังคมเปลี่ยน ปรัชญาเปลี่ยน ครูดนตรีก็ต้องเปลี่ยน 
            อดีต ดนตรีเป็นวิชาเต้นกินรำกิน (ระเด่นลันได) ดนตรีเป็นวิชาของทาส (พระอภัยมณี) มีหน้าที่ร้องรำทำเพลง ดนตรีเป็นวิชาที่ไม่มีแก่นสาร เสียแรงรู้เสียแรงเรียน” (นางนพมาศ) ดนตรีเป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของคนบาป (อุโบสถศีลข้อที่ ๗) ผู้ที่เล่นดนตรีดีดสีตีเป่า ร้องรำทำเพลง ตายไปแล้วต้องตกนรก (นางนพมาศ) ดนตรีเป็นวิชาต้องห้าม เช่น “อย่าร้องเพลงในครัว จะได้ผัวแก่” เป็นต้น
ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครอง คนรุ่นใหม่หันมาสนใจดนตรี สนใจการศึกษาดนตรีอย่างจริงจัง มีมุมมองใหม่ๆสำหรับดนตรี มีการตีความดนตรีใหม่เพื่อทำความเข้าใจใหม่ มีคำตอบคำอธิบายใหม่ๆเพื่อทำให้ดนตรีเป็นพื้นฐานของชีวิตเด็กไทย อย่างเช่น ให้มีโรงเรียนดนตรีพิเศษ ตามมาตรา ๑๕/๒ สังกัดคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
การตีความใหม่ทางด้านดนตรี ทำให้ดนตรีกลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิตเด็กไทย พัฒนาคุณภาพคน และนอกจากจะสร้างงานสร้างเงินจากการประกอบอาชีพทางด้านดนตรีได้แล้ว ยังเป็นความต้องการของสังคมด้วย
ครูดนตรีที่เก่ง จึงไม่ได้หมายความว่าเป็นครูดนตรีที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีเท่านั้น แต่ยังจะต้องมีความสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ความสามารถที่มีไปยังนักเรียนได้อย่างดี นอกจากจะต้องทำงานตามระเบียบแล้ว ยังต้องมีความกล้าที่จะทำงานเชิงสร้างสรรค์ได้ด้วย